โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza / Flu)  

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza / Flu)  เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรง และมีการติดเชื้อมากกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก ผู้ป่่วยหลายรายต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและพบผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากถึง 650,000 คนต่อปีโดยสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงระยะหนึ่งที่เกิดในชุมชนเป็นวงกว้างเรียกว่า การระบาด (Epidermics) ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว

อาการ

ไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อที่จมูก คอ และบางครั้งลงไปถึงปอด ซึ่งมีอาการแสดงหลัก คือ

  • ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และท้องเสีย แต่มักพบในผู้ป่วยเด็กมากกว่า
  • อาการของไข้หวัดใหญ่มักเกิดขึ้นเร็ว และเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังติดเชื้อและคงอยู่นาน 3 – 8 วันการติดเชื้อ สามารถทำให้เกิดอาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น เกิดโรคแทรกซ้อน คือ ปอดบวม และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความพิการ หรือเสียชีวิตได้
  • อาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อสามารถทำให้เกิดภาวะล้มเหลวของเนื้อเยื่อและอวัยวะ เช่น ระบบสมอง, ระบบหัวใจและกล้ามเนื้อ แต่พบว่าระบบทางเดินหายใจสามารถพบได้บ่อยที่สุด

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

หากสงสัยว่าตนหรือคนใกล้ชิดเป็นไข้หวัดใหญ่ อาจสังเกตได้จากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยปกติผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูง หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดหัว และอ่อนเพลีย บางรายอาจอาเจียนหรือมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ซึ่งอาการป่วยเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการแย่ลง หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างปอดบวม หอบหืด ติดเชื้อที่หู หรือการทำงานของหัวใจผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

หากไปพบแพทย์แล้วแพทย์สงสัยเกี่ยวกับอาการป่วย หรือหากการตรวจอาการในเบื้องต้นยังไม่สามารถให้ผลวินิจฉัยที่แน่ชัดได้ แพทย์อาจใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิคต่าง ๆ เพิ่มเติมตามเหมาะสม เช่น การเก็บตัวอย่างเชื้อจากน้ำมูกหรือเสมหะไปตรวจ การเพาะเลี้ยงเชื้อ หรือการตรวจหาไวรัสด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นต้น 

การรักษาไข้หวัดใหญ่

การรักษาไข้หวัดใหญ่มี 2 ประเภท คือ การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนก่อนการติดเชื้อ และการรักษาด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อไวรัสหลังจากมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้ว

1. วัคซีน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตามอัตราการป้องกันโรคก็มีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจอย่างไม่ถูกต้อง และการคาดเดาสายพันธุ์ไวรัสที่ไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด ตัวอย่าง เช่น ปี 2005 – 2018 พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยรวมสูงแค่ 10 – 60% เท่านั้น

องค์กรสุขภาพต่างๆ เช่น กรมควบคุมโรค, องค์กรอนามัยโลก แนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเป็นอย่างยิ่งในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้

2. ยาฆ่าเชื้อไวรัส

          ยาฆ่าเชื้อไวรัสสามารถลดระยะเวลาของโรค และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่นำไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้นหรือถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ยาฆ่าเชื้อไวรัสจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อรับประทานภายใน 48 ชั่วโมงตั้งแต่เริ่มมีอาการในปัจจุบันยาฆ่าเชื้อไวรัสที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทย มีอยู่ 3 ชนิดคือ

1. โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir)

2. ซานามิเวียร์ (Zanamivir)

3. บาลอกซาเวียร์ (Baloxavir)

โดยทั้งนี้ความเหมาะสมในการใช้ยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก