โรควัณโรค (Tuberculosis: TB) 

วัณโรค (Tuberculosis: TB) คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Mycobacterium โดยเชื้อจะแพร่กระจายผ่านละอองฝอยที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยวัณโรคไอหรือจาม หากร่างกายได้รับเชื้อวัณโรคเชื้อจะเข้าไปเกาะตามอวัยวะส่วนต่างๆ โดยเฉพาะปอดซึ่งพบเชื้อวัณโรคได้บ่อยที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับเชื้อผ่านการสูดลมหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง

วัณโรคที่เกิดขึ้นจึงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • วัณโรคปอด หรือ Pulmonary TB คือ วัณโรคที่มีการติดเชื้อ Mycobacterium Tuberculosis ที่ปอด
  • วัณโรคนอกปอด หรือ Extrapulmonary TB คือ วัณโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น วัณโรคหลังโพรงจมูก วัณโรคผิวหนัง วัณโรคลำไส้ วัณโรคในช่องท้อง วัณโรคอัณฑะ วัณโรคไต วัณโรคกระดูก และวัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ

อาการของวัณโรค

อาการวัณโรคจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง (Latent TB) และระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะพัฒนาไปอย่างช้า ๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปีกว่าจะแสดงอาการใด ๆ ให้เห็น

ระยะแฝง (Latent TB) ในระยะแฝง เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น เนื่องจากเชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น ทว่าเชื้อแบคทีเรียก็ยังคงอยู่ในร่างกาย และสามารถก่อให้เกิดอาการจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ

ระยะแสดงอาการ (Active TB) เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่าง ๆ โดยอาการในระยะนี้จะปรากฎให้เห็นได้ชัดเจน เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด และความอยากอาหารลดลง

ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้ววัณโรคจะแสดงอาการที่ปอด ซึ่งเรียกว่า วัณโรคปอด แต่เชื้อก็สามารถกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายและทำให้เกิดอาการผิดปกติที่เป็นอันตรายได้ เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง

วัณโรคในผู้ใหญ่

อาการวัณโรคในผู้ใหญ่ จะมีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ เจ็บหน้าอก ไอมีเลือดหรือมีเสมหะปน น้ำหนักลด มีไข้ เหงื่อออกเยอะในตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และเบื่ออาหาร

วัณโรคในเด็ก

อาการวัณโรคในเด็กจะมีไข้ติดต่อกันมากกว่า 7 วัน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เจ็บหน้าอก โลหิตจาง ไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ ไม่ร่าเริง เหนื่อยง่าย ต่อมน้ำเหลืองโตจนอุดตันหลอดลมและอาจมีน้ำในปอดข้างเดียว

ภาวะแทรกซ้อนจากวัณโรค

ภาวะแทรกซ้อนจากวัณโรคปอดและวัณโรคส่วนอื่นที่สำคัญ ส่งผลให้มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงยิ่งขึ้น มักพบในผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับการรักษาล่าช้าหรือรักษาไม่ต่อเนื่อง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ปอดได้รับความเสียหาย เช่น ฝีในปอด มีน้ำในช่องหุ้มปอด
  • สำหรับการติดเชื้อวัณโรคในข้อทำให้เกิดข้อต่อกระดูกอักเสบ โดยเฉพาะบริเวณเข่าและสะโพก
  • ตับและไตมีปัญหา ส่งผลต่อการขับของเสียจากเลือดออกจากร่างกาย
  • เนื้อเยื่อรอบหัวใจเกิดการอักเสบ ทำให้มีของเหลวในถุงเยื้อหุ้มหัวใจและส่งผลให้เกิดภาวะบีบรัดหัวใจได้
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะและอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้

อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์

มีอาการไอติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์ มีไข้ น้ำหนักลด เหงื่อออกตอนกลางคืน ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกได้ว่าผู้ป่วยอาจจะเป็นวัณโรคปอด ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่อาการจะทรุดลง แต่อย่างไรก็ตามยังมีอาการอื่นๆ ที่แสดงว่าร่างกายกำลังติดเชื้อวัณโรค ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก
  • ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะลงลึกถึงปอด
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • มีอาการบวมที่คอ ใต้แขน หรือขาหนีบ

การวินิจฉัยวัณโรค

การวินิจฉัยวัณโรคจะเป็นการตรวจหาเชื้อ Mycobacterium Tuberculosis ในร่างกายผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นวัณโรคปอดหรือวัณโรคนอกปอด โดยมีหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยวัณโรค ดังนี้

ลักษณะอาการทางคลินิก: การซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้นว่ามีอาการที่เข้ากับวัณโรคหรือไม่

การเอกซเรย์ทรวงอก: เพื่อดูตำแหน่งและลักษณะรอยโรคที่ปรากฏบนปอด

การตรวจเสมหะ: เพื่อตรวจย้อมเชื้อวัณโรค

การตรวจเลือด: เป็นการตรวจเพื่อดูปริมาณแอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างเพื่อต่อสู้กับเชื้อวัณโรค

การตรวจผิวหนังด้วยวิธี Tuberculin skin test: เพื่อตรวจหาการติดเชื้อวัณโรค

การรักษาวัณโรค

วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแพทย์จะรักษาผู้ป่วยวัณโรคด้วยการใช้ยาเป็นหลัก สำหรับผู้ป่วยระยะแสดงอาการ ยาส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็นยาปฏิชีวนะซึ่งต้องรับประทานต่อเนื่อง 6-9 เดือนหากเป็นวัณโรคปอด ส่วนการใช้ยาตัวไหน ปริมาณเท่าไหร่ ระยะเวลาในการรับประทานจะขึ้นอยู่กับอายุ ความรุนแรง บริเวณที่พบเชื้อวัณโรคในร่างกาย ผู้ป่วยวัณโรคจึงต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อนเท่านั้น

ส่วนการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ จะใช้เมื่ออาการวัณโรคปอดได้สร้างรอยโรคในปอด หรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาฆ่าเชื้อวัณโรค เช่น การใช้วิธีผ่าตัด