โรคลีเจียนแนร์

โรคลีเจียนแนร์ (LEGIONELLOSIS)

สถานการณ์โรคลีเจียนแนร์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2556 – ปัจจุบัน พบผู้ป่วยสะสม 131 ราย เสียชีวิต 1 รายในปี 2563 พบผู้ป่วยรายล่าสุดเมื่อปี 2564 อายุเฉลี่ย 62 ปี (อายุต่ำสุด 23 ปี และอายุสูงสุด 85 ปี) ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายวัยกลางคนถึงสูงอายุ และเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

โรคลีเจียนแนร์ สามารถติดต่อได้อย่างไร

การติดต่อ-รับเชื้อ เกิดจากการหายใจเอาละอองฝอยของเหลว หรือละอองฝอยของน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น น้ำจากหอหล่อเย็น (Cooling Towers) ของระบบปรับอากาศ น้ำฝักบัวอาบน้ำ อ่างน้ำวน เครื่องช่วยหายใจ และน้ำพุประดับอาคาร สถานที่ต่าง ๆ รวมถึงสำลักน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้สูบบุหรี่หนัก ทั้งนี้ยังไม่เคยพบการแพร่เชื้อจากคนสู่คน

โรคลีเจียนแนร์ มีอาการอย่างไร

อาการป่วยของโรคนี้จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ อาการเบาไปจนถึงอาการหนัก โดยอาการเบาจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน เรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก (Pontiac Fever) แต่หากติดเชื้อลงไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต จะเรียกว่าโรคลีเจียนแนร์

โรคลีเจียนแนร์ ป้องกัน-รักษาได้อย่างไร

โรคลีเจียนแนร์ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย การแพร่ระบาดมักอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ทุกหน่วยงานหรือสถานประกอบการที่พักนักท่องเที่ยวจึงควรจัดการระบบคลอรีนในน้ำประปา ตรวจสอบระบบน้ำร้อนรวม ระบบปรับอากาศ อุปกรณ์ในห้องน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทำความสะอาดสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการแสดงที่บ่งบอกว่า อาจเป็นสัญญาณของโรคลีเจียนแนร์ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเกิดระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้

อ้างอิง: กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค (ข้อมูล ณ วันที่ 7 กันยายน 2565)